Video Platform Technology คืออะไร

จากอดีตจนปัจจุบันและอนาคตจะเป็นอย่างไรสำหรับการรับชมโทรทัศน์ที่มีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน เมื่อพูดถึงการรับชมโทรทัศน์ในประเทศไทย สัญญาณภาพวิดีโอและเสียง เริ่มมีการเผยแพร่และส่งออกอากาศถึงประชาชนชาวไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495

กว่า 60 ปีที่ผ่านมา รูปแบบการรับชมโทรทัศน์ของประเทศไทยได้ผลัดเปลี่ยนเทคโนโลยีมาอย่างหลากหลาย ทั้งในรูปแบบทีวีภาพขาว-ดำ ภาพสี ความคมชัด รายการสดและรายการบันทึกเทป เผยแพร่ภาพและเสียงไปทั่วประเทศ จนกระทั่งมีการให้บริการรับชมทีวีผ่านโครงข่ายทีวีดิจิทัล ยุติการส่งสัญญาณทีวีอนาล็อกเดิมทั้งหมดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา สร้างมาตรฐานการรับชมทีวีในระบบ HD และ SD ที่มีคุณภาพ โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาลักษณะการรับชมสื่อต่าง ๆ ของผู้รับชมยังผ่าน Screen Output ของจอทีวีเป็นหลัก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่สำคัญส่งผลต่อพฤติกรรมการรับชมทีวีของผู้บริโภคก็คือ “อินเทอร์เน็ต” ไม่ว่าจะผ่าน WiFi หรือ โครงข่ายไร้สาย (4G) ในปัจจุบันนั่นเอง พฤติกรรมของผู้รับชมกลายเป็น Any Where, Any Time, Any Device ก่อให้เกิดการรับชมผ่าน Platform ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมาอย่าง Streaming TV, OTT, Video on Demand เกิดพฤติกรรมการรับชมเปลี่ยนแปลงไปในหลายรูปแบบ รูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ วิธีการโฆษณา ค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุนโฆษณาของผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ผลลัพธ์ที่เทคโนโลยีมอบให้เรานั้นกลับสร้างประสิทธิภาพในการเข้าใจ และความรู้สึกของผู้รับชมได้อย่างดีขึ้น สามารถสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คราวนี้เมื่อกล่าวถึง OTT (Over The Top) ซึ่งเป็น Platform การให้บริการรับชมสื่อทีวีที่หลากหลายและสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยผู้ใช้บริการสามารถเลือกรับชมหรือชำระค่าบริการสำหรับรายการทีวีหรือภาพยนตร์ที่ต้องการรับชม ในเวลาที่ต้องการรับชม (on Demand) รวมถึงยังสามารถเลือกชมได้ผ่านอุปกรณ์รองรับ OTT ทั้งแบบประจำที่ (Fixed Device) และแบบพกพา (Smartphone) การให้บริการแบบ OTT สามารถให้บริการอย่างกว้างขวางในต่างประเทศผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต โดยไม่ได้ใช้โครงข่ายคลื่นวิทยุและระบบดาวเทียมตามรูปแบบการรับชมทีวีในอดีต ส่งผลให้ปัจจุบันการบริการแบบ OTT เป็นที่แพร่หลาย มีผู้เล่นทั้งรายใหม่และรายเดิมที่ต่างมุ่งพัฒนาบริการ ตอบสนองความต้องการของตลาดผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตตาม รูปแบบของระบบสำหรับให้บริการ OTT โดยทั่วไป ตามรูปข้างต้น

เมื่อคำนึงถึงเรื่องการหารายได้ของบริการ OTT สามารถจำแนกได้เป็นรูปแบบดังต่อไปนี้

  1. SVoD (Subscription Video on Demand) การให้บริการด้วยการเก็บค่าสมาชิก แบบรายเดือนหรือรายปีรับชมรายการทีวีหรือภาพยนต์แบบไม่จำกัดระยะเวลาและเนื้อหาการรับชมตลอดอายุการเป็นสมาชิก ตัวอย่างบริการ OTT ในตลาด เช่น Netflix
  2. TVoD (Transactional Video on Demand) ให้บริการด้วยการเก็บค่าบริการเป็นรายครั้งหรือตามเนื้อหาที่รับชมในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น
  3. AVoD (Advertising-Based Video on Demand) ผู้ให้บริการหารายได้จากโฆษณาจะไม่เก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการแต่จะคิดค่าบริการจากเจ้าของสินค้าและบริการ หรือจากบริษัทโฆษณา ตัวอย่างบริการ OTT ในรูปแบบนี้ เช่น YouTube และ LineTV เป็นต้น
  4. Freemium เป็นบริการ OTT ที่มีการหารายได้จากการเก็บค่าบริการเพิ่มเติมจากบริการเสริม การหารายได้รูปแบบนี้นำลักษณะการหารายได้ทั้ง 3 รูปแบบข้างต้นมาให้บริการ กล่าวคือบริการ OTT จะไม่เก็บค่าบริการผู้ใช้บริการจากการใช้บริการพื้นฐาน โดยบริการ OTT หารายได้แบบ AVoD และเก็บค่าบริการเพิ่มเติมจากผู้ใช้ในรูปแบบ SVoD หรือ TVoD เมื่อผู้ใช้บริการต้องการใช้บริการเสริม เช่น ผู้ใช้บริการพื้นฐานสามารถรับชมเนื้อหาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่ต้องรับชมโฆษณา หากสมัครบริการเสริมจะไม่มีโฆษณาขึ้นแทรกระหว่างการรับชม เป็นต้น
  5. OTT as a Feature การให้บริการ OTT แบบไม่หารายได้ มักพบได้จากผู้ให้บริการที่มีฐานลูกค้าเดิมอยู่แล้ว เช่น ผู้ให้บริการ Pay TV ที่ต้องการเพิ่มช่องทางให้ผู้ใช้บริการของตนสามารถเข้าถึงรายการตามแพ็คเกจ ที่เป็นสมาชิกอยู่ได้สะดวกขึ้นผ่านระบบ OTT โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นการรักษาฐานลูกค้า
Messege us : NT Satellite